ชาติภูมิ
ครูบาอริยชาติ ถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2524 ที่บ้านปิงน้อย อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรของ โยมพ่อสุข โยมแม่จำนง อุ่นต๊ะ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน 3 คน เป็นผู้ชายทั้งหมด ก่อนที่ครูบาอริยชาติจะถือกำเนิดนั้น ขณะที่โยมแม่ตั้งครรภ์อุ้มท้องได้ฝันประหลาดไปว่า ได้รับผ้าขาวผืนใหญ่สีขาวนวลตา เมื่อพิจารณาก็รู้สึกชอบใจยิ่งนัก เพราะผ้าผืนนั้นขาวสะอาดไร้รอยเปื้อนใด ๆ จากนั้นโยมแม่ก็สะดุ้งตื่น แล้วได้นำความฝันนี้ไปเล่าให้ผู้เฒ่าผู้แก่ฟัง ซึ่งล้วนมีแต่คนบอกว่าน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้นฐานะทางบ้านของโยมพ่อโยมแม่ก็ไม่สู้จะดีนัก เป็นชาวสวนเกษตรกร ปลูกผัก ปลูกไม้ เลี้ยงดูลูก ๆ ไปวัน ๆ และเมื่อบุตรชายคนสุดท้องของท่านได้ถือกำเนิด ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เด็กชายผู้นี้เป็นเด็กที่มีผิวพรรณผุดผ่อง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งโยมพ่อโยมแม่ได้ตั้งชื่อในวัยเด็กของครูบาว่า เด็กชายเก่ง ซึ่งครูบาก็เก่งสมชื่อ เพราะนอกจากมีความจำเป็นเลิศและเรียนเก่งแล้ว ยังมีอุปนิสัยเป็นผู้ที่ชอบความสงบไม่ชอบเบียดเบียนผู้ใด
จนครั้งหนึ่งอายุได้ราว 7- 8 ปีเกือบต้องเสียชีวิตเนื่องจากจิตใจอันประกอบไปด้วยความเมตาต่อสรรพสัตว์คือ ในครั้งนั้นครูบาได้เห็นชาวบ้านไปดักปลาก็เกิดความสงสารจึงคิดจะไปปล่อยปลาเป็นเหตุให้พัดตกน้ำโชคดีที่พี่ชายมาเห็นเหตุการณ์จึงเข้าช่วยเหลือได้ทัน
และอุปนิสัยอีกประการในช่วงวัยเด็กของครูบาก็คือ ครูบามักจะนำดินเหนียวมาปั้นเป็นพระพุทธรูปอยู่เสมอ บางครั้งก็นำไปวางไว้ตามกำแพง ร่มไม้ จนเพื่อนๆ ชอบล้อว่าอยากเป็น ตุ๊เจ้า หรือ ซึ่งครูบาก็ไม่เคยปฏิเสธหรือโกรธเพื่อน ๆ เลย เท่าที่จำความได้สมัยเป็นเด็กอายุ 9-10 ขวบ ครูบาเป็นเด็กคนเดียวที่ไปวัด แล้วก็สามารถสวดมนต์ไหว้พระได้ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ
การศึกษาเล่าเรียน
ครูบามีความผูกพันกับวัดและขณะอายุได้ 12 ปีนั้น ครูบามักจะตามพี่ชายซึ่งเป็นขโยม (เด็กวัด) ไปที่วัดชัยชนะ จ.ลำพูน เสมอๆ จึงทำให้มีโอกาสได้พบกับ ครูบาจันทร์ติ๊บ ญาณวิลาโส อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยชนะ ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งครูบาจันทร์ติ๊บผู้นี้นับได้ว่าเป็นพระผู้เรืองในวิทยาคุณในยุคนั้น ท่านได้สืบทอดวิทยาคมมาจากครูบาชุ่ม โพธิโก อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดวังมุย นั่นเอง
ครูบาจันทร์ติ๊บเมื่อได้มาเห็นลักษณะของครูบาก็มองว่ามีวาสนาในทางธรรม ท่านจึงได้สอนศีลธรรมจรรยาต่างๆ ให้ และด้วยความที่ครูบาอ่อนน้อมถ่อมตัวเป็นคนเรียบร้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วทำให้ครูบาจันทร์ติ๊บมีความรักใคร่ในตัวครูบามาก
ต่อมาจึงได้เริ่มสอนอักขระพื้นเมืองหรือที่เรียกว่า ตั๋วเมือง โดยท่านได้สอนพร้อมกับเด็กวัดอีกหลาย ๆ คน ซึ่งอักขระตัวเมืองคนอื่นที่เรียนเขาใช้เวลาเป็นเดือน แต่ครูบาสามารถอ่านออกได้ช่วงเวลาเพียงข้ามคืนเท่านั้น เรื่องนี้ถูกเล่าขานในกลุ่มผู้ที่ทราบเรื่องราว หนึ่งในนั้นคือ ครูบาตั๋น ซึ่งในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอสารภีรูปที่ 4 และเป็นประธานศูนย์เผยแผ่พุทธศาสนา วัดหวลก๋าน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ตุ๊ลุงตั๋นท่านไม่เชื่อจึงเดินทางมาพิสูจน์ข่าวนี้ด้วยตนเอง ปรากฏว่าครูบาสามารถอ่านออกเขียนได้ในภาษาล้านนาจริงๆ ตุ๊ลุงตั๋นรู้สึกมีความชื่นชมในตัวของครูบามาก จึงได้มอบเงินเป็นรางวัลจำนวน 1,000 บาท จากนั้นครูบาจันทร์ติ๊บก็ได้พร่ำสอนสั่งสอนถ่ายทอดวิชาการทั้งปวงให้กับครูบา และครูบาก็สามารถเรียนรู้วิชาทั้งปวงได้ในเวลารวดเร็ว สามารถลงอักขระ เลขยันต์ต่างๆ แทนครูบาผู้เป็นอาจารย์ได้ จนต่อมาครูบาจันทร์ติ๊บถึงกับเอ่ยปากพูดว่า “เด็กผู้นี้มีวาสนาทางธรรมสูงยิ่งนัก ต่อแต่นี้ไปเราขอตั้งชื่อเด็กชายผู้นี้ว่า อริยชาติ อันหมายถึง ผู้ที่มีภพชาติอันเป็นอริย นั่นเอง
ชีวิตในวัยเด็กครูบาเริ่มการศึกษาที่ โรงเรียนวัดชัยชนะ ต.ประตูป่า อ. เมือง จ. ลำพูน จนจบชั้นประถมศึกษา จึงได้มาเรียนต่อโรงเรียนมัธยมที่ โรงเรียนสารภีวิทยาคม ซึ่งช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ป.6 นั้น ครูบามีความคิดอยากจะบวช ขอกับโยมแม่ว่าถ้าจบ ป.6 แล้วบวช โยมแม่บอกว่าเอาไว้ให้จบ ม.3 ก่อนแล้วค่อยบวช พอจบ ม.3 ก็คิดว่าจะได้บวชแล้ว แต่ก็ไม่ได้บวช โยมแม่บอกว่าเอาไว้ ม.6 ค่อยบวช เลยคิดว่ายังไงๆ ก็คงไม่ได้บวชแล้ว แต่พอครูบาเรียนถึงชั้น ม.4 รู้สึกมันวุ่นวาย อะไรๆ ก็วุ่นวาย ช่วงนั้นรู้สึกอยากจะบวชมากจริงๆ รู้ว่าต้องได้บวช ขอโยมแม่ๆ ก็ไม่ให้บวช เพราะครูบาเป็นความหวังของโยมแม่ เนื่องจากพี่ชายคนแรกพิการ เกิดมาได้เดือนหนึ่งก็เป็นไข้เลือดออกพาไปหาหมอ หมอก็ฉีดยาให้ร่างกายนั้นปกติดีแต่พิการ พี่ชายคนที่สองแต่งงานแล้วก็ไปอยู่ลำปาง ครูบาเป็นลูกคนสุดท้องอยู่กับโยมแม่ สมัยนั้นครูบาขอบวชโยมแม่ก็ไม่ให้บวช ท่านบอกว่า “คนขาดีมาอยู่กับกูไม่ได้พึ่งคงจะได้พึ่งคนขาไม่ดี เพราะคนขาดีมันไปกันหมดแล้ว” ซึ่งคนขาไม่ดีที่ว่าจะได้พึ่งนั้นมีอยู่คนเดียวคือโยมพี่ ทุกวันนี้เป็นจริงแล้วนะโยมแม่ก็ได้พึ่งเขาจริงๆ
ออกเดินธุดงค์ตั้งแต่เป็นสามเณร
พอครูบาเรียนที่โรงเรียนสารภีจบแล้ว ก็ได้บวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2541 ณ วัดชัยมงคล ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน ขณะที่มีอายุ 17 ปี โดยมี พระครูภัทรปัญญาธร วัดศรีสุพรรณ จ.ลำพูน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูไพศาลธรรมานุศิษย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์และ พระครูวัดเจดีย์ขาว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งวัดชัยมงคลนี้สมัยก่อนครูบาชุ่ม โพธิโก ท่านเป็นเจ้าอาวาส
ซึ่งขณะที่ครูบาจำพรรษาอยู่ที่วัดชัยมงคลหรือวัดวังมุยนั้น ก็ได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะออกธุดงค์ในขณะที่ยังเป็นเณร ที่จริงออกไปเองไม่ได้เพราะพรรษาไม่ถึง 5 พรรษา แต่ทางเหนือเขาไม่ถืออย่างธรรมยุติ ส่วนมากทางเหนือบวชเสร็จก็ไม่ได้อยู่กับพระอุปัชฌาย์ จะไม่เหมือนธรรมยุติที่บวชแล้วต้องอยู่กับพระอุปัชฌาย์ 5 พรรษา จะไปไหนไม่ได้ ส่วนทางเหนือพระอุปัชฌาย์ไม่ค่อยเข้มงวดเรื่องนี้ จะไปก็ไปได้ จะอยู่ก็อยู่ได้ แต่สำหรับครูบาที่ไปนั้นเพราะต้องการความสงบ จึง ได้ออกจากวัดวังมุยโดยไม่ได้บอกกล่าวหรือลาผู้ใด แม้แต่โยมแม่
ครูบาได้ออกแสวงหาพระธรรม โดยได้เดินธุดงค์ไปทางเมืองแพร่ น่าน โดยได้เริ่มต้นเดินทางจากพิษณุโลกขึ้นมา ไปเมืองแพร่ เมืองน่าน แล้วก็ไปอยู่ที่น่าน ต้องเดินไป นอนตามป่าช้าบ้าง นอนข้างทางบ้าง ใหม่ๆก็กลัวเหมือนกัน แต่พอผ่านมาเยอะก็กลัวบ้างไม่กลัวบ้าง
ครูบาได้ธุดงค์อยู่ที่จังหวัดน่านนานถึง 8 เดือน และใช้ชีวิตแบบพระธุดงค์ไม่มีผิด คือจะนอนอยู่ตามป่าช้าเป็นวัตร เริ่มแรกครูบาก็มีความขลาดกลัวอยู่เหมือนกัน แต่ด้วยจิตใจอันยึดมันเด็ดเดี่ยว สุดท้ายก็ได้อธิฐานต่อเทวดาฟ้าดินว่า “หากชีวิตนี้จะสิ้นลงก็ขอสิ้นในธงชัยของพระพุทธเจ้า
เมื่ออธิษฐานเสร็จความขลาดกลัวก็หายไปจิตใจยอมมีความสงบมั่นใจขึ้น มีอยู่หลายครั้งหลายคราวที่ถูกลองใจจากเจ้าที่เจ้าทางแต่ก็ผ่านพ้นมาได้ เมื่อยามอยู่ตามลำพังก็ยิ่งปฏิบัติอย่างเคร่งครัดถึงขั้นอดอาหารฉันแต่น้ำกระทำทุกข์ เพื่อดูจิตอยู่ได้ถึง 12 วัน ก็ล้มป่วยอาพาธหนักจนชาวบ้านมาพบเข้าแล้วนำไปรักษาพยาบาลจนอาการดีขึ้น
ศึกษาวิชากับครูบาอาจารย์ต่างๆ
เมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ครูบาก็มีความเคร่งครัดของวัตรปฏิบัติโดยพยายามศึกษาจากครูบาอาจารย์รุ่นเก่าๆ และได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนมีความกระจ่าง ในขณะนั้นหากครูบาทราบว่ามีครูบาอาจารย์ดีอยู่ในที่ใด เป็นอันต้องไปกราบขอฝากตัวเป็นศิษย์และปฏิบัติตามรอยครูบาอาจารย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งครูบาอาจารย์ที่สอนก็มี ครูบาจันทร์ติ๊บ ญาณวิลาโส ท่านสอนกาสะท้อน สมัยที่อยู่ลำพูน วัดวังมุยซึ่งตำราของวัดวังมุย สมัย ครูบาชุ่ม โพธิโก ก็คือกาสะท้อน ครูบาจันทร์ติ๊บท่านก็ทำกาสะท้อนให้ครูบาชุ่ม สมัยก่อนครูบาชุ่มท่านดังแต่ท่านไม่มีเวลามานั่งทำหรอก เหมือนครั้งที่ครูบาเดินทางไปกรุงเทพฯ ก็ต้องเอาไปด้วยเป็นพันๆ ลูกเพราะมันปั้นยาก เรียนกาสะท้อน ลงเสื้อยันต์ เรียนอักขระล้านนา เรียนจารยันต์ แม้แต่ตอนที่ท่านมรณภาพ วัตถุมงคลแจกในงานศพท่าน ครูบาก็เป็นคนทำหมดเลย
แล้วก็มีครูบาบุญสม สิริวิชโย เป็นลูกศิษย์ของครูบาชุ่ม โพธิโก และยังมีครูบาอินตา วัดห้วยไซ สมัยก่อนตอนเป็นเณรจะชอบคาถาอาคม อะไรที่เป็นคาถาอาคมครูบาจะชอบมาก ไปเรียนกับครูบาวัดห้วยไซ เรียนยันต์ตะกรุด เรียนยันต์เก้ากลุ่ม เรียนใส่ตะกรุดเข้าตา สาริกาเข้าตา สมัยหนึ่งเคยไปใส่ที่กรุงเทพฯ เป็นตะกรุดที่ใส่เข้าไปแล้วจะไม่เคืองไม่อะไร แต่ถ้าเกิน 7 วันไปจะไม่อยู่แล้ว จะเข้าไปในตาแล้วจะหายไปเอง มีทองคำดอกหนึ่ง ข้างหนึ่งเงิน ข้างหนึ่งทอง เขาเรียกสาริกาเข้าตา ใส่ให้คนเมตตา ขอความช่วยเหลือ ติดต่อเจรจาเป็นวิชาของครูบาอินตา แล้วก็ ครูบาชัยวงศา วัดพระบาทห้วยต้ม ซึ่งส่วนมากจะเป็นแนวกรรมฐาน
ช่วงเป็นเณรครูบาชอบคาถาอาคม แต่พอบวชเป็นพระก็เริมศึกษากรรมฐาน นำคำสอนของ อาจารย์ปื๊ดมาพิจารณาบ้าง แล้วก็ถามหาครูบาอินตา วัดวังทองบ้าง ทุกวันนี้ท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ อายุ100 กว่าปีแต่ท่านยังแข็งแรง แล้วก็หลวงพ่อทอง ซึ่งครูบายังไม่เคยได้เจอท่านอาจจะเจอกันในฌาน ท่านชอบให้ลูกศิษย์มาขอกาสะท้อนกับครูบา พอได้ไปแล้วท่านก็ไปผูกไว้ที่หัวเตียง ท่านบอกว่ากันของกันอะไรได้ ก็ได้เจอกันเพราะกาสะท้อน จนกระทั่งเจอตัวจริงตอนไปที่โรงพยาบาล
และยังมีอีกหลายองค์ ส่วนมากจะนับถือมากกว่า เวลาติดขัดสงสัยอะไรก็จะซักถามท่าน อย่างท่านเจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตร ครูบาสนิทและนับถือท่าน เวลามีการมีงานก็นิมนต์ท่านมาช่วยตลอด ครูบาจันทร์แก้ว วัดศรีสว่าง อ.หางดง องค์นี้นิ่งมาก เหมือนพระอรหันต์เลย นิ่งสนิท ยอมรับเลยว่าสุดยอด ท่านอายุ 90 กว่าปีแล้ว จะเหมือนกับครูบาอินตา แต่เรื่องความเย็นนี้ ครูบาจันทร์แก้วจะเย็นกว่าเพราะครูบาอินตาจะออกทางฤทธิ์มากกว่า และ ครูบาดวงดี ท่านเป็นลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัย เหมือนกับสืบสายมา เจอกันคืนเดียวให้ธรรมะให้ความรู้ก็ถือว่าเป็นศิษย์ได้
แล้วก็ไปเรียนกับครูบาชุ่ม เพราะตำราของครูบากับตำราที่ออกจากวัดศรีดอยมูลนี้เป็นตำราเดียวกัน ยันต์บางอย่างก็อันเดียวกันเลย ซึ่งครูบาชุ่มท่านเป็นพระเมตตามาก ท่านจะยกพระทุกรูปเลย องค์นี้ดีนะ ปฏิบัติดี เหมือนกับส่งเสริม อย่างหลวงพ่อชิด วัดพระธาตุจอมกิตติ ท่านบอกลูกศิษย์ว่าครูบาชุ่มนี้เป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบารมีมาเยอะแล้ว ลูกศิษย์ก็มากันหลายคนเลย เราก็ไม่รู้แต่ลูกศิษย์เอามาเล่าให้ฟัง กับหลวงพ่อชิดเคยเจอกันครั้งเดียวท่านอยากเห็นก็เลยมาเจอที่วัด
การเข้านิโรธกรรม
ครูบาได้ปฏิบัติตามแบบโบราณจารย์ในสายครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาในสมัยครูบาชุ่ม โพธิโก อดีตเจ้าอาวาสวัดวังมุยยังมีชีวิตอยู่นั้น สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ครูบาชุ่ม จะปฏิบัติคือ การเข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งได้กระทำตามแบบอย่างของนักบุญแห่งล้านนา ซึ่งในเวลาต่อมาครูบาได้พบตำราปั๊บสา ซึ่งเป็นบันทึกการเข้านิโรธกรรมของครูบาชุ่มที่คัดลอกมาจากครูบาศรีวิชัย อันมีใจความสำคัญในบันทึกการปฏิบัติ โดยเน้น ธุดงควัตร 13 และการเข้านิโรธกรรมที่ไม่เหมือนผู้ใด คือเป็นการทำแบบลำบาก ซึ่งครูบาได้ตั้งสัจจะอธิษฐานเอาไว้ว่า ในชาตินี้จะขอกระทำนิโรธกรรมเพียง 9 ครั้งซึ่งนับถึงปัจจุบันครูบาได้กระทำนิโรธกรรมมาแล้ว 8 ครั้ง และได้กระทำโดยไม่ซ้ำที่ และไม่กำหนดว่าจะทำติดต่อกันหรือไม่ บางครั้งอาจเว้นปีหรือติดต่อกันก็ได้ แต่ครูบาจะไม่ป่าวร้องบอกผู้ใด
ซึ่งการกระทำนิโรธกรรมตาบแบบฉบับของครูบาชุ่ม โพธิโกนี้ ท่านให้ขุดหลุมลึกศอก กว้าง 2 ศอกพอดีเข่า แล้วสร้างซุ้มฟางครอบ ให้มีความสูงแค่เลยหัว 1 ศอก โดยจะยืนไม่ได้ ไม่ฉัน ไม่ถ่ายหนักเบา ฉันแต่น้ำ โดยมีผ้าขาวปู 4 ผืนรองนั่ง แทนความหมายคือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีเสาซุ้ม 8 ต้น แทนความหมาย มรรค 8 ยอดซุ้มปักธงฉับพรรณรังษี อันมีความหมายถึงปัญญา ราชวัตรล้อมซุ้มมี 9 ชั้น แทนความหมายของ โลกุตรธรรม 9 คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 รวมเป็น 9
ซึ่งการกระทำนิโรธกรรมของครูบา บางครั้งจะเข้าอยู่ 7 วัน หรือ 9 วัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าตามสถานที่ห่างไกลคน สัปปายะ โดยมีชาวบ้านจัดเวรยามรักษาในรัศมี 100 เมตร เพื่อป้องกันคนรบกวน ซึ่งก่อนที่จะทำการเข้านิโรธกรรมนั้น จะต้องมีพระสงฆ์จำนวน 5 รูป เป็นผู้รับรองความบริสุทธิ์ ซึ่งกระทำตามแบบครูบารุ่นเก่า อีกประการหนึ่ง ครูบาต้องการความสงบเป็นการทำด้วยจิต มิใช่การแสวงหาลาภผลใดๆ
จนต่อมาบรรดาศิษยานุศิษย์ของครูบาจะต้องเฝ้ารอว่าเมื่อใดครูบาจะกระทำนิโรธกรรม เพราะในความเชื่อของชาวพุทธ เราจะเชื่อกันว่าในยามใดที่มีพระสงฆ์กระทำนิโรธกรรมนั้น จะมีผลบุญอันยิ่งใหญ่ หากอธิษฐานขอสิ่งใดก็จะประสบผลทุกประการ ดังนั้นในปีใดที่ครูบาได้เข้านิโรธกรรมเวลาออกจากนิโรธกรรมจะมีประชาชนจำนวนมากเรือนหมื่อนมารอรับและทำบุญกับครูบา
พระพุทธศาสนากับลัทธิต่าง ๆ
พระทางเหนือกับพระทางภาคกลางไม่เหมือนกัน ครูบาสงสัยแล้วก็เคยถามครูบาอาจารย์ว่าทำไมพระทางเหนือต้องนุ่งจีวรสีกรักแดง ห้อยประคำ ถือไม้เท้า ท่านบอกว่าเป็นลัทธิดั้งเดิม เรียกว่าลัทธิลังกาวงศ์ ผ้าสีนี้ที่เราเห็นเขาเรียกว่า ละกา ทิเบต ภูฏาน นุ่งสีนี้เหมือนกันเลย แต่ลายจีวรไม่เหมือนกัน สงฆ์ล้านนามีสองปราย ปรายแรกเรียกว่า ปรายสวนดอก ปรายที่สองเรียกว่า ปรายผาแดง ปรายสวนดอกสมัยนั้นศาสนาเข้ามาสู่ล้านนา สมัย พระเจ้าปีนา เข้ามาโดยพระสมณะเถระนำศาสนาจากสุโขทัยพร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับล้านนา เสร็จแล้วพระเจ้าปีนาได้ยกพระบรมสารีริกธาตุขึ้นอธิษฐานว่า “ถ้าพระศาสนาจะได้ประดิษฐานในเมืองล้านนามั่นคงแล้ว ก็ขอให้พระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฏิหาริย์
ก็เกิดความมหัศจรรย์ใจแก่พระองค์ จากพระธาตุดวงหนึ่งแยกเป็น 2 ดวง พระเจ้าปีนาก็ปีติโสมนัสชมชื่นยินดี ก็เลยยกพระราชอุทยานสวนดอกไม้พยอมให้สร้างเป็นวัด ซึ่งก็คือ วัดบุปผารามสวนดอกไม้ ปัจจุบันคือวัดสวนดอก เจดีย์วัดสวนดอกเป็นเจดีย์แบบล้านนาผสมสุโขทัยแล้วพระธาตุอีกดวงหนึ่งที่แสดงปาฏิหาริย์แยกขึ้นมา ไม่รู้จะนำไปไว้ที่ไหน ก็เลยอธิษฐานเสี่ยงบนหลังช้าง เดิมธรรมชาติของช้างก็ขึ้นเขาและอยู่ในป่า ก็ไปหมดแรงอยู่ที่ดอยแห่งหนึ่ง อันเป็นที่อยู่ของเหล่าเทวะฤาษี เลยสร้างพระธาตุขึ้นมา เป็นพระธาตุดอยสุเทพ เพราะเป็นที่อยู่ของเหล่าเทวะฤาษี เลยได้เป็นพระธาตุพี่พระธาตุน้องกับวัดสวนดอก แล้วสงฆ์ยุคนั้นก็เลยเป็นสงฆ์ยุคสุโขทัย เป็นเถรวาส
ศาสนาในล้านนามีมาประมา 200-300 กว่าปีก่อน แต่พระสงฆ์ในศาสนาไม่ค่อยรู้บาลีกลัวว่าศาสนาจะเสื่อม ก็เลยส่งสมณทูตชุดหนึ่งจากบ้านเราไปศรีลังกา เพราะสมัยนั้นล้านนาเป็นเมืองขึ้นของพม่า เมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อนพระที่ส่งไปชื่อว่า พระสุธรรมกิตติญาณคัมภีระเถระ เป็นลูกศิษย์ของ พระบุปผา สวามีของเมืองพม่า ตอนที่ส่งไปนั้นได้บวชเณรจากบ้านเรา พอไปถึงลังกาบวชพระ แล้วก็นำศาสนาจากลังกาเข้ามาสู่ล้านนา เลยกลายเป็นลัทธิลังกาวงศ์นุ่งรัดอก นุ่งผ้า 3 ผืน นี้คือที่ศรีลังกา
แต่ทุกว่านี้ที่ศรีลังกาจะมีทั้งสีกรัก แล้วก็เหมือนกันสีบ้านเรา ก็เพราะว่าในศรีลังกาเสื่อม แล้วก็นำจากสยามวงศ์เข้าไปศรีลังกา ก็เลยมีทั้งลังกาวงศ์และสยามวงศ์ แต่ล้านนามี 2 อัน คือ มีเถรวาสแบบสุโขทัย กับมีแบบลังกาวงศ์ อย่างครูบาศรีชัยก็สืบทอดมาจากลังกาวงศ์ ที่ถือไม้เท้าก็หมายถึง ผู้จาริก ผู้เดินทาง หลักปฏิบัติจะคล้ายกัน ซึ่งมันเหมือนธรรมยุติกับมหานิกาย แต่ลังกาวงศ์นี้ส่วนมากจะเป็นสายพระป่า
ความเชื่อในศาสนาล้านนา
ซึ่งถ้าดูความเชื่อของคนล้านนาแล้วก็จะเห็นว่า มีความเชื่อเหมือนทิเบต เหมือนภูฏานมีความเชื่อแบบนั้น ครูบาดูแล้วล้านนาจะออกกึ่งมหายาน คือเชื่อการกลับชาติมาเกิด การระลึกชาติได้ ความเป็นผู้มีบุญ เราดูอย่างพระที่มีอายุน้อยสมัยก่อน อย่าง ครูบาชุ่ม ครบาเทือง ครูบามนตรี ท่านดังมาก ๆ เลย เพราะคนล้านนาเชื่อว่าความเป็นผู้มีบุญ เกิดมาเป็นบุญ เป็นโพธิสัตว์ลงมาเกิด ลงมาโปรดคนให้พ้นทุกข์ในวัฏสงสารอย่างเห็นครูบาทางเหนือบางครั้งอายุยังน้อย แต่มีความสารมรถ มีบุญบารมีเยอะ เพราะเขาเชื่อแบบนั้น ครูบาดูแล้วเหมือนกันเลยคำว่า ครูบา ในล้านนานี้สมัยก่อนเป็นยศ จะมี สาติ สาตุ๊ สาตุ๊เจ้า ครูบาออกยาธรรม อย่างครูบานี้สมัยก่อนมีไว้เรียกพระที่มีพรรษาเกิน 50 พรรษาขึ้นไป ถ้าเป็นภาคกลางก็จะเรียกว่า มหาเถระ ก็เลยเป็นครูบาตอนเฒ่าตอนแก่ แต่เป็นสิ่งที่คนศัทธาแล้วเรียกกัน อย่าง ครูบาน้อย (หมายถึง ครูบาที่มีอายุน้อย) บางครั้งก็ศรัทธาด้วยบุญฤทธิ์ เกิดมาเป็นผู้มีบุญ ทำอะไรก็สำเร็จ อธิฐานอะไรก็สำเร็จ ใครมาขอพรอะไรก็สำเร็จ เกิดมามีบุญเรียกว่า บุญฤทธิ์
แล้วอีกอย่าง เป็นครูบาเพราะอิทธิฤทธิ์เวทมนต์คาถา อย่าง ครูบาจันต๊ะ ครูบาแอ ที่เก่งเรื่องคาถาอาคม เก่งเรื่องไสยศาสตร์ ทำเทียน ทำน้ำมนต์ ก็เป็นครูบาได้เหมือนกัน มีทั้งบุญฤทธิ์และอิทธิฤทธิ์ แล้วครูบาทางล้านนาส่วนมากเท่าที่ครูบาดูนะ ถ้าอายุน้อยๆ มีบารมีเยอะ จะสามารถ สร้างตรงนั้นตรงนี้ได้ อย่างครูบาชุ่ม ท่านสร้างวัดได้มากมายเป็นร้อยๆ วัด ครูบาเทืองก็สร้างได้มาก แล้วยังมีครูบาศรีวิชัย ครูบาขาวปี ครูบาชัยวงศา เป็นต้น ลองไปดูประวัติท่านสิ