๏ ประวัติย่อโดยสังเขป
พระอาจารย์เฉลิมชัย ฐิตตธมโม หรือ พระอาจารย์นก ฐิตะธัมโม เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๕๐๗ เดือน ๓ ปีมะโรงเป็นบุตรของนายสุชาติ พงษ์จตุรา และนางซ่อนกลิ่น พงษ์จตุรา
มีบุตรด้วยกันจำนวน ๑๐ คน ดังนี้
๑.นายประเทืองรัตน์ พงษ์จตุรา
๒.พระอาจารย์นก พงษ์จตุรา
๓.นายฉัตรชัย พงษ์จตุรา
๔.นางเพ็ญแข พงษ์จตุรา
๕.นายพิเชษฐ์ พงษ์จตุรา
๖.น.ส.บุตรชาดา พงษ์จตุรา
๗.นางศศิธร พงษ์จตุรา
๘.นายประทีป พงษ์จตุรา
๙.นายบำรุง พงษ์จตุรา
๑๐.พระอาจาย์ดวงสมชัย คุณธโร บุตรบุญธรรม(เจ้าอาวาสวัดเขาบังเหยชุมพลสีมาราม)
๏ เหตุจูงใจที่ทำให้อยากบวช
เพราะท่านพระอาจารย์นกป่วยเป็นมะเร็งตับในระยะสี่ขั้นสุดท้าย ไม่มียาสามารถรักษาให้หายจากมะเร็งที่เป็นอยู่ได้ คิดที่จะบวชตลอดเวลาในยามที่จิตว่าง บางครั้งต้องไปนอนในวัดร้าง ในป่าช้า ข้างเชิงตะกอนที่เผาศพคนตาย บรรยากาศสงบวิเวก ไม่มีใครมารบกวน ฉุกคิดว่า พ่อแม่พี่น้อง มีแต่รักเราทั้งนั้นแหละ เมื่อตายไปแล้วสุดท้ายก็เอาไปเผาแล้วฝังทิ้งให้อยู่แบบเดียวดาย จึงคิดที่จะเตรียมตัวตายยังไงตัวเราก็ไม่พ้นความตายด้วยโรคมะเร็งตับ เป็นแน่แท้ เลยคิดเอาไว้ในใจว่าต้องบวชให้ได้สักครั้งหนึ่งก่อนตนเองตาย จะเป็น พระเณร หรือ ตาปะขาว ฤาษี ก็ได้ เมื่อจิตสงบกลับคิดได้ว่า อาหารทุกชนิดที่คนเรารับประทานก็เป็นยาทั้งนั้น คนที่เจ็บป่วยที่ไม่สามารถทานอาหารได้สุดท้ายก็ต้องตาย ต่อไปเราต้องทานทุกอย่างที่ทานได้เพื่อให้แข็งแรง แล้วจะได้บวช เมื่อได้บวชแล้วจะฝึกฝนตนเอง เพื่อแสวงหาเส้นทางสว่างที่จะได้ไปสวรรค์ เมื่อตายจากโลกนี้ไป โดยอาศัยศึกษาหลักธรรมคำสอนแนวทางปฏิบัติ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ ได้บำเพ็ญโดยการเข้านาคถือศีล๘ ทดสอบความพร้อมของร่างกายและจิตใจตนเอง ว่ามีความสามารถบวชได้ไหม โดยใช้เวลาเป็นปี จนขัดเกลาจิตใจจนได้นิสัย จึงท่องคำขอบรรพชาได้ เพื่อบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๙ ปี พ.ศ.๒๕๒๖ อุปนิสัย ชอบสงบ ชอบการเดินธุดงค์ ฝึกฝนตนเอง เพราะคิดว่าตนเองต้องตายและจุดประสงค์เพื่อแสวงหาที่ตาย ไกลๆไม่อยากให้ใครรู้ แม้แต่โยมพ่อโยมแม่ พี่น้องของเรา ส่วนซากศพเมื่อตายไปแล้ว บริจาคทานให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยไป หรือให้เป็นปุ๋ยของต้นไม้ จึงหาโอกาสจาริกแสวงบุญปลีกวิเวกหาความสงบภาวนาไปด้วย ตั้งแต่เป็นสามเณร ไปตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ ตามเงื้อมผา ตามป่าช้าต่างๆ เดินไปธุดงค์ภาวนาหลายจังหวัด เช่น ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานีเป็นต้น
๏ อุปสมบท
เมื่ออายุครบ อุปสมบท เมื่อ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ณ วัดเลียบ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระโพธิญาณมุณี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ พระอนุสาวนาจารย์ พระครูวิมลอุปลารักษ์ เมื่อบวชแล้วได้ไม่นานจึงขออนุญาตครูบาอาจารย์ ไปแสวงหาข้อวัตรปฏิบัติทางภาคเหนือ เพื่อเรียนรู้ศึกษาสมถวิปัสนากรรมฐาน และขอนิสัย
๏ พระสายปฏิบัติศิษย์หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
ในสมัยนั้น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ มีชื่อเสียงในเรื่องสมถและวิปัสสนา กรรมฐานมาก เป็นพระปฏิบัติ สายธรรมยุติพระป่า เป็นลูกศิษย์ต้นๆของหลวงปู่มั่น ถูริทัตโต พระอาจารย์นก ฐิตธมฺโม จึงได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พระสายปฏิบัติหลวงปู่แหวน สุจิณโณ พระอริยะสงฆ์แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ ท่านได้ไปอยู่เพื่อศึกษา สมถวิปัสนากรรมฐานและปรนนิบัติอุปฐากหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากหลวงปู่ละสังขารมีการพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่แหวน สุจิณโณ แล้ว พระอาจารย์นกได้เดินธุดงค์ปลีกวิเวกหาความสงบ ในสถานที่ต่างๆ เช่น ประเทศพม่า ลาว และตามจังหวัดต่างของประเทศไทย ภาวนามาเรื่อยๆตามป่าเขาและในถ้ำต่างๆ ตามเงื้อมผา ตามป่าช้า ตามป่าดงดิบ มีอยู่วันหนึ่งท่านพระอาจารย์นก ได้นิมิตว่ามีเทวดาลงมาจากฟากฟ้าแล้วยืนลอยอยู่บนนภากาศ ได้สนทนาเรื่องธรรมต่างๆเกือบหนึ่งชั่วโมง และแนะนำให้ท่านไปภาวนาอยู่บนเขาในป่าแห่งหนึ่ง แล้วได้เนรมิตสถานที่ ที่ท่านพระอาจารย์ต้องไปให้ท่านดู ซึ่งท่านได้จดจำสถานที่แห่งนั้นได้แล้ว และเทวดาก็ได้ทำนายเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นภายในอนาคตไว้ จากนั้นเทวดาองค์นั้นก็ได้พุ่งขึ้นหายไปบนฟากฟ้า แล้วนิมิตก็ได้หายไป หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์นกก็ได้เดินธุดงค์มาเรื่อยๆจนถึงเขาพังเหยบริเวณบ้านซับมงคล ตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ และเห็นสถานที่ตรงนี้ว่าใช่ตามที่เทวดานิมิตทำให้เห็น และเหมาะสำหรับภาวนาจึงได้ปักกลดเจริญสมถวิปัสสนา กรรมฐาน ซึ่งเป็นบริเวณของวัดในปัจจุบันนี้ ท่านพระอาจารย์นกได้พิจารณาเห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นมงคล ต่อไปภายภาคหน้า สถานที่บริเวณนี้จะเป็นวัด อาณาบริเวณนี้เป็นป่าธรรมชาติได้ เป็นสถานที่สงบวิเวกเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ พระอาจารย์นก จึงได้จำพรรษาในป่าแห่งนี้ เป็นกุฏิมุงด้วยหญ้าคาเล็กๆ กว้าง๒.๕๐x๓.๐๐เมตร ที่ชาวบ้านมีจิตศรัทธามาสร้างให้ บางครั้งก็อยู่รูปเดียวบางครั้งก็มีเณรมาอยู่ด้วยแล้วก็สึกไป พระอาจารย์นกเป็นพระผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบสันโดษ ไม่ชอบกิจนิมนต์ ไม่หวังในลาภ ไม่แสวงหายศฐานบรรดาศักดิ์ ในอดีตเจ้าคณะจังหวัด จะแต่งตั้งยศตำแหน่งให้ท่านก็ไม่รับ แลรองราชเลขา ร.๙ ท่านภาวาส บุญนาค จะนำเสนอขอให้ท่านเป็นเจ้าคุณ พระอาจารย์นก ท่านก็ไม่รับ ท่านกล่าวว่า มอบให้ครูบาอาจารย์ ที่มีหน้าที่ มีความดี ความชอบ ในสายปกครองดีกว่า อาตมาไม่มีความดีความชอบ อะไรเลย อีกประการหนึ่ง เรื่องสิ่งก่อสร้างต่างๆ เกิดจากศรัทธาของญาติโยมและศิษยานุศิษย์ ที่ควบคุมดูแลการก่อสร้าง ทั้งมีความศรัทธาร่วมกันบริจาคทรัพย์ให้ การก่อสร้างจึงเน้นแข็งแรงมั่นคงสวยงาม เพื่อคงไว้ในพระพุทธศาสนา และไม่ต้องมาเป็นภาระในการซ่อมแซมอีกนานจนถึงปัจจุบัน ท่านพระอาจารย์นก เป็นพระที่ไม่ได้ยึดติดในลาภสักการะ ไม่มีเงินทองเป็นของส่วนตัว เมื่อมีญาติโยมนำถวาย ท่านพระอาจารย์นก ก็มอบยกให้เป็นของกลางสงฆ์ทั้งหมด ท่านพอใจในสิ่งที่มีอยู่ มีในสิ่งที่ท่านพอใจ เมื่อขาดสิ่งใดก็มักจะมีลูกศิษย์นำมาถวาย จึงไม่ได้ขาดเขินเดือดร้อน ไม่จำเป็นต้องแสวงหาเงินทอง จึงเป็นที่ประจักในสายตายของเหล่าศิษยานุศิษย์
๏ งานด้านการพัฒนา สร้างวัดให้คนเข้าวัด
วัดเขาบังเหยชุมพลสีมาราม”หมู่บ้านซับมงคล ต.โป่งนก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ สร้างขึ้นโดยพระอาจารย์เฉลิมชัย ฐิตตธมโม หรือ พระอาจารย์นก ฐิตตธมโม เมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว จากเริ่มแรกเป็นโรงเรือนศาลาไม้ ได้พัฒนาและสร้างศาสนสถานเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน มีศาลาปฏิบัติธรรม พระอุโบสถ หอสมาธิ ตลอดจนโรงยาสมุนไพรและที่พักรับรองญาติโยมที่มาทำบุญและปฏิบัติธรรม
จากป่าไม้ที่ถูกทำลายกลายเป็นภูเขาหัวโล้น พระอาจารย์นกได้นำศรัทธาญาติโยมปลูกต้นไม้ รักษาป่า ทำให้บริเวณวัดร่มรื่น เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ บริเวณวัดจึงมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีบรรดาสัตว์ป่ามาอาศัยอยู่ เช่น หมูป่า ลิง ไก่ป่า เต่าภูเขา ๖ ขา นกนานาชนิด ต้นไม้พืชพรรณที่เป็นยาสมุนไพรมีมากมายหลายร้อยชนิด
บรรยากาศร่มเย็นมากเมื่อได้เข้ามาภายในบริเวณวัด ครูบาอาจารย์ที่บวชอยู่ในวัดนี้เป็นที่นับถือของประชาชนใน จ.ชัยภูมิ และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมากวัดเขาบังเหยจึงเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจเที่ยวชมธรรมชาติและปฏิบัติธรรม
พระอาจารย์นก พูดถึงการสร้างศาสนสถานในวัดให้สวยงามว่า “คนทุกคนไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น ต่างต้องการความสะดวกสบายและอยากเห็นสิ่งสวยๆ งามๆ กันทั้งนั้น ห้องน้ำที่สะอาด สิ่งอำนวยความสะดวกภายในวัด อาตมาไม่ได้สร้างเพื่อพระสงฆ์แต่สร้างเพื่อพุทธศาสนิกชน ลำพังพระที่อยู่ในวัดมีไม่กี่รูปไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรมากมาย แต่ญาติโยมที่เข้าวัดมีมากกว่าพระเป็นร้อยๆ เท่า จึ่งต้องสร้างไว้ต้อนรับญาติโยม
ศาสนสถานภายในวัดเมื่อสร้างเสร็จก็อยู่คู่กับวัดไปตลอดชาติ เป็นมรดกของพุทธศาสนา เป็นของพุทธศาสนิกชน ซึ่งต้องสร้างให้ขึ้นชื่อว่าดีที่สุด ไม่ใช่เป็นของพระอย่างที่คนเข้าใจกัน พระเป็นเพียงผู้รวบรวมพลังศรัทธาของญาติโยมเท่านั้น
อย่างไรก็ตามแม้ว่าพระอาจารย์นกจะเป็นหัวแรงสำคัญในการนำศรัทธาญาติโยมและลูกศิษย์ในการสร้างวัดเขาบังเหย แต่ท่านไม่ได้เป็นและรับตำแหน่งเจ้าอาวาส พระที่เป็นเจ้าอาวาสชื่อ “พระครูไพบูลย์ธรรมกิจ” ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ญาติโยมในพื้นที่แถบนี้ไม่น้อยกว่า ๓ อำเภอ พากันหลั่งไหลไปกราบ กอปรกับวัดนี้มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระหมอยา มีความสามารถ “ผสมยา” ในป่า ต้มให้ญาติโยมอาบ อบ รักษาโรคฟรี ไม่ต้องใช้เงินบูชาเอายาใดๆ คนป่วยส่วนใหญ่หายจากโรคภัยไข้เจ็บอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
พระอาจารย์นก เป็นพระสายปฏิบัติศิษย์หลวงปู่แหวน สุจิณโณ แห่งดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ ท่านบวชเณรมาจาก จ.ชัยภูมิ ไปอยู่ปรนนิบัติหลวงปู่แหวน สุจิณโน ที่เชียงใหม่ ก่อนที่หลวงปู่จะละสังขาร วิชาและความรู้หลวงปู่แหวนได้เมตตาถ่ายทอดให้พระอาจารย์นก เป็นอย่างมาก
ความพิเศษของพระอาจารย์นกนอกจากสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลแจกฟรีแล้ว สิ่งหนึ่งที่พิเศษและแตกต่างจากวัดอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง คือ ในวัดก็ไม่ได้ตั้งตู้รับบริจาค เงินที่ได้มาเปิดโรงทาน (อาหารฟรีตลอดปี) ได้มาจากญาติโยมฐานะดีบริจาคเป็นกองทุน “ลอยเอาไว้” ทั้งปี รวมทั้งมีเศรษฐีบริจาคเงินสร้างศาลา สร้างกุฏิ และกำลังสร้างพระอุโบสถหลังใหญ่ ด้วยพลังศรัทธาในวัตรปฏิบัติและคำสอนในวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์นก
๏ การสร้างวัตถุมงคลเป็นเปลือกของศาสนา
พระอาจารย์นกได้ตอบคำถามที่ว่า“การสร้างวัตถุมงคลเป็นเปลือกของพุทธศาสนาทำให้คนติดและหลงใหลในวัตถุมงคล”ไว้อย่างน่าคิดว่า “ทุกอย่างย่อมมีเปลือก ต้นไม้ก็เช่นกันอยู่ได้เพราะเปลือกที่คอยปกป้องเลี้ยงกระพี้และแก่นให้เจริญเติบโต ศาสนาก็มีเปลือกคือ“ทาน”ที่คอยปกป้องอุ้มชูเลี้ยงกระพี้คือ”ศีล”และศีลคอยปกป้องอุ้มชูเลี้ยงแก่น ก็คือ”ภาวนา”คอยปกป้องอุ้มชูเลี้ยงใจกลางแก่นคือ ”ปัญญา” ถ้าทุกคนในศาสนานี้มุ่งแสวงหาแต่แก่นเพื่อความหลุดพ้นอย่างเดียวโดยไม่รู้จักการให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาแล้วไซร้ วันนี้พุทธศาสนาจะอยู่ได้อย่างไร เพราะถ้าทุกคนไม่รู้จักทำบุญให้ทาน ข้าวน้ำอาหารเครื่องใช้สอย เป็นต้น
ซึ่งถือว่าเป็นเปลือกของศาสนา พระภิกษุสามเณรก็จะอยู่ไม่ได้ การสร้างศาสนสถานอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เกิดจากคนที่มีจิตใจศรัทธาในบุญ สละทรัพย์ให้เป็นทาน ท่านพระอาจารย์นกได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อีกว่า การให้ทานด้วยศรัทธา อุปมาเหมือนบุคคลหนึ่งได้ปลดทุกข์ถ่ายอุจจาระไว้แล้ว ย่อมไม่ห่อนำอุจจาระกลับไปทานที่บ้านฉันใด ผู้ให้ทานด้วยการเสียสละ ด้วยการไม่ยึดติด ย่อมไม่เสียดายอยากได้คืนเหมือนถ่ายอุจจาระแบบนั้น การให้ทานจึงเป็นการฝึกละกิเลสในเบื้องต้น ทานเป็นบุญอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ความปิติอิ่มเอิบของทาน เป็นความรู้สึกส่วนหนึ่งของสังขาร มีศรัทธาคล้อยตามบุญสวรรค์ก็บังเกิด เมื่อบุญสวรรค์บังเกิด ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวัฏจักรแห่งกรรมไม่รู้จบ สิ่งที่เวียนว่ายแปรเปลี่ยนอยู่หาใช่บุญที่ยั่งยืนไม่ การเจริญสมถวิปัสสนา ทำให้จิตผ่องใสและปัญญานั้นปรากฏตัว การเวียนว่ายตายเกิดของภพชาติย่อมสั้นลงจนถึงที่สุด