หลวงปู่แผ้ว ปวโร วัดรางหมัน

พระราชมงคลวชิราคม อุดมธรรมสุนธร มหาคณิสสรบวรสังฆาราม คามวาสี

 

หลวงปู่แผ้ว ปวโร 

วัตถุมงคลหลวงปู่แผ้ว ปวโร

ประวัติ ของ หลวงปู่แผ้ว ปวโร ท่านมีชื่อว่า แผ้ว บุญวัตร ท่านชื่อเล่น แกละ เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2466 ตรงกับวันพุธ( แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน ณ หมู่บ้านหลักเมตร ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม บิดาชื่อพาน มารดาชื่อ จุ้ย จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 3 จากโรงเรียนวัดหนองม่วง ต.เตาอิฐ อ.บางแพ จ.ราชบุรี

 เมื่อท่านอายุได้ 2 ขวบ ทางครอบครัวก็ได้ย้ายไปอยู่ ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก พ่อแม่ถือเป็นคนใจบุญ สนทนาธรรมะกับพระมิได้ขาด กระทั่งปี 2475 โยมพ่อได้ฝากไปเป็นศิษย์วัดหนองม่วง ต.เตาอิฐ เพื่อให้ได้เรียนหนังสือกับพระสงฆ์ โรงเรียนสมัยนั้นจะอยู่ในวัดและพระเป็นครูสอน เด็กชายแกละจึงอยู่ในความดูแลจากหลวงพ่อหงส์ เจ้าอาวาสวัดหนองม่วง แต่ก็ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะต้องออกมาช่วยงานทางบ้าน

อุปสมบท…

เมื่ออายุ 20 ปี  หลวงปู่แผ้วได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2486 ณ วัดหนองปลาไหล อ.กำแพงแสน โดยมี พระครูสุกิจธรรมสร(พระอธิการหว่าง ธมมสโร) วัดกำแพงแสน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการปาน อารกฺโฆ วัดหนองปลาไหล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสนั่น วัดหนองปลาไหล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ต่อมาในปี 2497 จำพรรษาอยู่ที่วัดสว่างชาติประชาบำรุง ต.กำแพงแสน มีอาจารย์สุนทร ชิตะมาโร เป็นเจ้าอาวาส

หลวงปู่แผ้ว ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยอย่างมุ่งมั่น จนสอบได้ถึงนักธรรมเอก หน้าที่รับผิดชอบยังคงเป็นครูสอนพระนักธรรมแก่พระภิกษุและสามเณร ต่อมาเจ้าอาวาสวัดได้ลาสิกขา ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง 1-2 ปี ชาวบ้านรวมทั้งพระภิกษุและสามเณรต้องการให้ หลวงปู่แผ้ว ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส แม้หลวงปู่จะไม่ยินดีเท่าใดนัก

หลวงปู่แผ้ว ได้จำพรรษาที่วัดกำแพงแสน มาตั้งแต่ปี 2502 จนถึงปี 2551 ต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม 2551หลวงปู่แผ้วได้ย้ายมาจำพรรษาที่ วัดประชาราษฎร์บำรุง (วัดรางหมัน) ตำบลรางพิกุล อำเภอกำแพงแสน จ.นครปฐม จนถึงปัจจุบัน

วิทยาคมเข้มขลังสายหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก

สำหรับวิทยาคมอันเข้มขลังที่ หลวงปู่แผ้ว ใช้นั่งบริกรรมระหว่างนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคล ล้วนแต่เป็นวิทยาคมของ หลวงพ่อหว่าง ธัมมสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดกำแพงแสน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจาก หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก อีกทอดหนึ่ง ในช่วงที่ หลวงพ่อหว่าง ธัมมสโร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกำแพงแสน ท่านมีความเชี่ยวชาญเรื่องยาสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณ

วัตถุมงคลของท่านก็เข้มขลังเป็นที่นิยม ทั้งนี้ หลวงปู่แผ้ว ได้ศึกษาอยู่กับหลวงพ่อหว่างจนกระทั่งท่านได้มรณภาพ เมื่อได้รับกิจนิมนต์นั่งปรก จึงนำวิชาของหลวงพ่อหว่างใช้รวมกับวิชาวิปัสสนากรรมฐานที่ได้เรียนมาที่วัดมหาธาตุฯ สนามหลวง มาใช้บริกรรมคาถา เพื่อให้เกิดความเข้มขลัง

สำหรับคาถาเสกวัตถุมงคลเข้มขลัง หลวงปู่แผ้ว บอกว่า มีบทเดียว แต่สร้อยของคาถามีหลายแบบ เช่น อาจจะบริกรรมว่า “พุทธังหลีก ธัมมังหลีก สังฆังหลีก” บ้างก็บริกรรมว่า “พุทธังแหวก ธัมมังแหวก สังฆังแหวก” หรืออาจจะบริกรรมว่า “พุทธังแคล้วคลาด ธัมมังแคล้วคลาด สังฆังแคล้วคลาด”

หลวงปู่แผ้วกล่าวว่า “ตำราคาถาของวัดและสำนักต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นของเดิมที่สืบทอดจากครูบาอาจารย์ในอดีต หลายคนท่องคาถาถูกต้องตามอักขระชัดเจน แต่เหนือสิ่งอื่นใดจิตต้องนิ่งเป็นสมาธิ คาถาจึงมีความเข้มขลัง ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส ถ้าจิตนิ่งเป็นสมาธิ บริกรรมคาถาบทใดก็เข้มขลัง ที่ขาดไม่ได้ คือ ต้องตั้งอยู่ในศีลมั่นอยู่ในธรรม”