แม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม

 

คุณแม่ บุญเรือน  โตงบุญเติม

กำเนิดบุญ

แม่ชีบุญเรือน หรือคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ตรงกับวันอาทิตย์เดือน ๔ ปีมะเมีย ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลา ๑๑.๒๐ น. มีบิดาชื่อ นายยิ้ม กลิ่นผกา มารดาชื่อ นางสวน กลิ่นผกา สถานที่เกิดอยู่ในคลองสามวา อำเภอมีนบุรี กรุงเทพฯ ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี มีฐานะเป็นชาวสวน และเติบโตในละแวกบ้านชาวสวนนี้

ญาติพี่น้อง

บิดาของท่านมีภริยาทั้งสิ้นสามคน ภรรยาคนแรกมีบุตรสองคนคือ นางอยู่ (หรือ ทองอยู่) กลิ่นผกา เป็นพี่สาวของท่าน ซึ่งได้สิ้นชีวิตไปนานแล้ว คนต่อมาคือคุณแม่บุญเรือน ภรรยาคนที่สองชื่อนางเทศ มีบุตรสามคน คือนายเนื่อง นางทองคำ นางทิพย์ ฯลฯ ภรรยาคนที่สามไม่มีใครจำชื่อได้ จำไม่ได้ทั้งว่ามีบุตรชายและหญิงหรือไม่

การศึกษาเล่าเรียน

ชีวิตยามเยาว์ของคุณแม่บุญเรือนได้รับความรักความทะนุถนอมจากบิดามารดามาก ท่านได้รับการศึกษาให้รู้ภาษาไทยสมควรกับอัตภาพพอเหมาะสมกับสมัย ได้รับการฝึกสอนอบรมจากบิดามารดา ให้มีความรอบรู้และสามารถในการทำหน้าที่แม่บ้านได้อย่างดี เนื่องจากปรากฏต่อมาในภายหลังว่า คุณแม่บุญเรือน มีความสามารถในการทำกับข้าวมีรสโอชาหลายอย่าง เป็นต้นว่าน้ำพริก ท่านปรุงได้รสอร่อยเป็นอันมาก นอกนั้นอาหารจำพวกแกง และ ต้ม หลายชนิด ท่านก็สามารถทำได้อย่างดี นอกจากนี้ก็ยังมีความสามารถในการเย็บจักร ตัดเสื้อผ้า ตัดผมได้ แม้กระทั่งการโกนผมของท่านเองในสมัยที่ท่านบวชชี และในสมัยหลังที่ท่านมิได้บวชชีแล้วแต่ก็ยังคงโกนหัวอยู่ ก็ทำได้โดยไม่ต้องอาศัยคนอื่นช่วยเหลือ เหล่านี้เป็นความสามารถที่เป็นที่ประจักษ์แก่คนที่รู้จักทุกคน

การฝึกหัดเป็นหมอนวด  และสนใจในงานบุญ

เมื่อคุณแม่บุญเรือนอายุได้ ๑๕ ปีเศษ ซึ่งเป็นวัยรุ่นสาว ท่านได้รับการฝึกสอนจากชีวิตในครอบครัวให้รู้จักการ “นวด” เนื่องจากปู่ของคุณแม่บุญเรือนผู้ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า “อาจารย์กลิ่น” เป็นหมอนวดผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น

ปรากฏว่าคุณแม่บุญเรือนมีความสนใจในวิชาหมอนวดนี้มาก จนกระทั่งเมื่อ “อาจารย์กลิ่น” ท่านเห็นว่าได้ประสิทธิประศาสน์วิชาได้ประมาณหนึ่งแล้วท่านจึงได้ “ครอบวิชาหมอนวด” และมอบตำราหมอนวดให้เป็นสมบัติสืบทอดแก่คุณแม่บุญเรือน โดยตำราดังกล่าวได้มีข้อห้ามไว้ว่า การนวดตามตำรานี้จะเรียกร้องเงินทองเป็นค่าจ้างไม่ได้ สุดแล้วแต่ผู้รับการนวดจะให้เองโดยสมัครใจเท่านั้น จากนั้น อาจารย์กลิ่นก็ได้แยกนิวาสถาน ไปอยู่ในที่วิเวกแห่งหนึ่ง ในสวนตำบลบางปะกอกนั่นเอง

คุณแม่บุญเรือน ก็ได้ตั้งใจศึกษาวิธีนวด จากตำราของอาจารย์กลิ่น ต่อไปจนกระทั่งท่านมีความชำนิชำนาญในเรื่องการนวดเป็นอันมาก และได้กลายเป็นหมอนวดที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งผู้หนึ่ง และกลายเป็นวิชาที่ท่านสามารถใช้เป็นอาชีพได้เป็นอย่างดี ท่านเคยใช้วิชาหมอนวดนี้ช่วยนวดรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่พึงใช้การนวดในการรักษาไว้เป็นอันมาก ในสมัยต่อมา เมื่อคุณแม่บุญเรือนได้สำเร็จธรรมแล้ว ท่านก็ได้ใช้วิธีรักษาด้วยการอธิษฐานธรรม และอธิษฐานสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรคตามวิธีการของท่าน ปรากฏว่ามีโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดที่ท่านใช้วิธีนวดเข้าช่วยด้วย เช่น คนไข้คนหนึ่งเป็นไส้ติ่งอักเสบ ท่านก็ได้อธิษฐานปูนทาและการนวดประกอบกัน และประสบผลสำเร็จในการรักษาอย่างน่าอัศจรรย์

ด้วยการนวดอันมีชื่อเสียงและสำเร็จผลของท่านนี้เอง ทำให้มีบุคคลไม่น้อยสนใจในวิธีการอันเป็นตำราของท่าน และได้เข้ามาขอเรียนและเป็นศิษย์กับท่าน แต่ศิษย์ที่ได้สนใจศึกษาวิธีการนวดของท่านจนสำเร็จครบถ้วนจริงๆ นั้น คือ นางพวง นภาพงศ์ ซึ่งได้เป็นหมอนวดที่ยึดมั่นในวิธีการนวดตามแบบและวิธีการของท่าน จนได้รับมอบตำราหมอนวด ที่ท่านได้รับจากอาจารย์กลิ่นไว้สืบทอดต่อไป และเมื่อคุณแม่บุญเรือนได้ทิ้งร่างวายชนม์ไปแล้ว นางพวง ก็ได้นำตำรามามอบให้เพื่อพิมพ์ไว้ในหนังสือที่จะแจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพคุณแม่บุญเรือน ณ เมรุวัดธาตทอง

การนวดทุกครั้ง คุณแม่บุญเรือน จะแนะนำให้ผู้รับการนวด ให้ทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลให้แก่อาจารย์กลิ่นปู่ของท่านเสมอ

ในช่วงสมัยวัยรุ่นของท่านนั่นเอง ท่านได้รับการแนะนำให้รู้จักพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่วัดบางปะกอก พระภิกษุรูปนั้นคือพระอาจารย์พริ้ง (พระครูประศาสน์สิกขกิจ) ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่าน พระอาจารย์พริ้งนี้เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาก เป็นพระอาจารย์องค์หนึ่งของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ท่านเคยได้รับปั้นเหน่ง (เข็มขัด) ที่ทำจากกระดูกกะโหลกหน้าผากของแม่นาคพระโขนง ซึ่งตกทอดมาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มาถึง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) แล้วจึงมอบมาให้ท่าน และท่านก็ได้ถวายต่อไปยัง เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ

และเมื่อท่านรู้จักหลวงลุงของท่านแล้ว ท่านก็ได้นำภัตตาหารและและเครื่องไทยทานต่างๆ ไปถวายพระอาจารย์พริ้งอยู่เสมอๆ ทำให้ท่านได้รับการสั่งสอนให้รู้จักธรรมะ และคุณธรรมในการดำเนินชีวิตตามแนวคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้เริ่มเลื่อมใสศรัทธา และรักงานบุญงานกุศลมากขึ้น ทั้งน่าจะถือได้ว่าเป็นปฐมเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ท่านบำเพ็ญกรณียกิจ เป็นนักบุญในพระพุทธศาสนาในสมัยต่อมา ได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุความสำเร็จ

พระอาจารย์พริ้งนี้คุณแม่บุญเรือนมีความเคารพนับถือมาก เมื่อหลวงตาพริ้งมรณภาพ ในปี ๒๔๙๐ ท่านก็ได้ไปร่วมประชุมเพลิงที่วัดบางปะกอกด้วย

วัดบางปะกอกที่กล่าวมาแล้วนี้ น่าจะเป็นวัดสำคัญที่ทำให้ท่านเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาด้วย ต่อมาเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งขณะนั้นคุณแม่บุญเรือนมีชื่อเสียงมากแล้ว ได้นำสานุศิษย์ไปร่วมฌาปนกิจบิดาของท่านที่วัดบางปะกอกอีกครั้งหนึ่ง และต่อมาได้นำผ้าป่าไปทอดที่วัดนี้ และแวะเยี่ยมบ้านญาติของท่านในละแวกนั้นด้วย และดูเหมือนครั้งนั้นจะเป็นการไปเยี่ยมบ้านบางปะกอกเป็นครั้งสุดท้าย

ชีวิตสมรส

เมื่อคุณแม่บุญเรือนมีอายุพอสมควร ก็ได้ทำการสมรสกับ ส.ต.ท.จ้อย โตงบุญเติม ซึ่งเป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลสัมพันธวงศ์ (ต่อมาได้ถูกยุบไปรวมกับสถานีตำรวจนครบาลอื่นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสามแยกเจริญกรุง อยู่ห่างจากวัดสัมพันธวงศ์ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดเกาะ” เพียง ๓๐๐ เมตรเศษ ซึ่งวัดสัมพันธวงศ์ เป็นสถานที่สำคัญในชีวิตของคุณแม่บุญเรือนในช่วงนั้น เข้าใจว่าเมื่อตอนสมรสกับคุณแม่บุญเรือนนั้น ส.ต.ท.จ้อย คงจะมีฐานะเป็นเพียงนายสิบตำรวจตรี เท่านั้น

ชีวิตสมรสของคุณแม่บุญเรือน นับว่าเต็มไปด้วยความเรียบร้อยและราบรื่น เล่ากันว่าสามีของท่านเป็นผู้เอาอกเอาใจท่านดีผู้หนึ่งแต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกันเลย ดังนั้นปรากฏว่าคุณแม่ได้รับอุปการะเด็กหญิงชายอื่นอยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่มีผู้ที่ท่านอุปการะมาแต่เยาว์วัย ตลอดมาจนเติบใหญ่ เป็นเวลายาวนานคนหนึ่งในฐานะบุตรบุญธรรม คือ เด็กหญิงอุไร ในขณะนั้นท่านมีอายุประมาณ ๓๐ ปี (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๗) ท่านได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงอุไรมาตั้งแต่อายุ ๖ เดือน จนเติบใหญ่อายุ ๑๙ ปี นางสาวอุไรจึงได้เข้าพิธีสมรสกับ ร.ต.ท.เต็ม คำวิเทียน นางอุไร กับ ร.ต.ท.เต็ม อยู่กินกันมาจนมีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อว่า นิดา คำวิเทียน ซึ่งเป็นหลานยายที่คุณแม่บุญเรือนให้ความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

ในระหว่างครองชีวิตร่วมกับ ส.ต.ท.จ้อย โตงบุญเติม คุณแม่บุญเรือนได้ประกอบอาชีพช่วยสามีด้วยการรับตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยจักร ตามความชำนาญที่ท่านได้ฝึกฝนมาแต่เดิม ซึ่งท่านก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี จนทำให้ครอบครัวท่านมีฐานะที่มั่นคงพอสมควร

นอกเหนือจากการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ท่านทำเป็นอาชีพแล้ว ท่านยังรักษาโรคโดยการนวด ซึ่งท่านทำเป็นการกุศลโดยไม่รับสินจ้าง และท่านยังมีความสามารถในการทำคลอด หรือเป็นหมอตำแยแผนโบราณด้วย ซึ่งทำให้ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากในขณะนั้น

การปฏิบัติธรรม

ในระหว่างนี้ท่านได้ยึดมั่นในการบุญการกุศล รักงานบุญ การถือศีลสวดมนต์ ฟังธรรมด้วยความเลื่อมใส คุณแม่บุญเรือนได้เริ่มฝึกหัดวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดสัมพันธวงศ์ กับท่านเจ้าคุณพระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์ที่ พระครูวิบูลศีลย์ขันธ์ และคุณแม่บุญเรือนมีอายุยังไม่ถึง ๓๐ ปี ต่อมาสามีได้อุปสมบทที่วัดนี้ ๑ พรรษา และเมื่อสามีลาสิกขาไปแล้ว สามีก็ยังเป็นผู้ถือมั่นในทางธรรมอย่างมาก สนใจแต่ในการเมตตากรุณา ยึดมั่นในศีล ๕ เคร่งครัด ทำบุญให้ทานเป็นประจำ สุราซึ่งเมื่อก่อนอุปสมบทดื่มเมาถึงคลาน ก็เลิกเด็ดขาด ทำให้คุณแม่บุญเรือนก็ยิ่งมีศรัทธาเลื่อมใสมากขึ้น ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ จึงได้ลาสามีออกบวชเป็นชี และอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดสัมพันธวงศ์ ได้เพียรฝึกหัดวิปัสสนากัมมัฏฐาน ด้วยความพยายามมากยิ่งขึ้น ได้อยู่ปฏิบัติในศาลาวัดสัมพันธวงศ์ด้วยความกล้าหาญ เข้าใจปลอดโปร่งในธรรมะ

ท่านพระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ผู้เป็นพระอาจารย์สอนสมถะวิปัสสนากรรมฐาน ให้แก่คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ได้เล่าถึงคุณแม่บุญเรือนไว้ตอนหนึ่งว่า

“คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม เป็นผู้มีศรัทธาหาโอกาสบริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม ในวันธรรมสวนะอุโบสถ และฟังพระธรรมเทศนาที่ศาลาสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีประจำวันตลอดมา

ครั้นเมื่อคุณแม่บุญเรือน เข้าใจธรรมวินัยกว้างขวางขึ้น ก็พยายามศึกษาปฏิบัติถึงขั้นสมถวิปัสสนา ร่วมกับคณะคุณแม่ที่มาฟังธรรมเวลาค่ำ คือ นอกจากชาวบ้านที่มาฟังธรรมแล้ว ก็มีสตรีที่มีศรัทธามาถือบวชชีเป็นชีนุ่งขาวอยู่หลายคน

เมื่อแสดงเทศนาจบแล้ว ก็เริ่มถามความเข้าใจและความกำหนดจดจำ ตลอดถึงแนะอุบาย ที่จะเป็นอุปการะแก่การปฏิบัติธรรมทั่วๆ ไป

เมื่อแนะนำสั่งสอนนานเข้า ก็เลื่อนไปแสดงธรรมะที่ละเอียดขึ้นไปโดยลำดับ นับว่า เป็นชั้นสมถภาวนา อุบายทำให้ใจสงบเลื่อนไปถึงขั้นวิปัสสนาภาวนา อุบายที่จะทำใจให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ตามพระธรรมวินัยหรือตามพุทธประสงค์ที่แท้จริงบ้าง วันละประมาณครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงเศษบ้าง

ในบรรดานักศึกษาธรรม ที่ประชุมในยุคนั้น ท่านพระมหารัชชมังคลาจารย์ เล่าว่า คุณแม่บุญเรือน เป็นผู้ที่เข้าใจเนื้อความของธรรมะได้ดี เป็นผู้กล้าหาญ กล้าตอบ กล้าพูด มีปฏิภาณได้ถ้อยได้ความ ถือเอาอรรถรสได้

เมื่อพูดจาแนะนำ ปรับความเข้าใจทางทฤษฎีพอควรแก่เวลาแล้ว ก็เริ่มนำบูชาอาราธนากรรมฐานประกอบภาคปฏิบัติต่อไป โดยปกติก็ใช้เวลาประมาณชั่วเล่มธูป แล้วกรวดน้ำ เป็นอันเสร็จการปฏิบัติธรรม”

เหตุการณ์ตอนที่ท่านบรรลุธรรม

(๑๕ พฤษภาคม ๒๔๗๐)

แม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม เคยเล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่ท่านจะบรรลุธรรมไว้กับนายสุวรรณ ทองนาค บ้านอยู่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี (ซึ่งต่อมาในปี ๒๕๑๑ ได้บวชเป็นพระ ที่วัดอาวุธวิกสิตาราม) ตอนหนึ่งว่า

 ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ “แม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม ตั้งใจจะขอปฏิบัติธรรมให้สำเร็จอยู่ที่ศาลาวัดสัมพันธวงศ์ เป็นเวลา ๙๐ วัน โดยถือศีล ๘ บวชเป็นชี นั่งสวดมนต์ภาวนา เจริญวิปัสสนาตามแนวทางของท่านเจ้าคุณพระมหารัชชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ (ในสมัยนั้น) การปฏิบัติธรรมดำเนินไปจนล่วงเข้าวันที่ ๘๙ ก็ยังไม่สำเร็จธรรม หรือเห็นธรรมแต่ประการใด จึงคิดท้อใจกลับบ้านที่บ้านพักตำรวจปทุมวัน ได้พบกับสิบตำรวจโทจ้อย ผู้เป็นสามี ซึ่งได้ทักมาว่า ‘กลับมาแล้วหรือ ? เมื่อกลับมาแล้วก็อยู่บ้านเถิด…’

คุณแม่บุญเรือนจึงว่า ‘เมื่อจะให้อยู่บ้าน ก็ขอให้โยมจ้อยถือศีล ๘ เลิกยุ่งเกี่ยวฉันสามีภรรยาจะได้ไหม ?’

สิบตำรวจโทจ้อยก็รับคำ จากนั้นสิบตำรวจโทจ้อย ก็ขอตัวออกไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ที่บ้านคงเหลือแต่โยมมารดา ของคุณแม่บุญเรือน และหลานๆ ๒-๓ คน คุณแม่บุญเรือนจึงอาบน้ำ นุ่งขาวห่มขาว เตรียมตัวไหว้พระสวดมนต์ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๒๑.๐๐ นาฬิกา เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ (ตรงกับวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๗๐) จากนั้น คุณแม่บุญเรือนก็ได้แลเห็นโยมมารดาและหลานๆ นอนหลับกันหมดแล้ว โยมมารดานั้นมีอาการกรน ส่วนหลานๆ ก็มีอาการ

ละเมอบ่นพึมพำ และกัดฟันกรอดๆ รู้สึกเกิดธรรมสังเวชเบื่อหน่ายต่อสภาพอย่างนั้นขึ้นมาในขณะนั้นทีเดียวว่า

‘เออ… สังขารร่างกายนี้ ถึงแม้จะหลับใหลไปแล้ว แต่ก็ยังมีเวทนาผุดซ้อนขึ้นมาอีกนะนี่…’

ท่านจึงคิดอยากหลีกหนีเสียชั่วคราว ครั้นแล้วคุณแม่บุญเรือน ก็ได้นั่งสมาธิกรรมฐานในห้องพระ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณตี ๒ ก็มีอาการแน่นหน้าอก อึดอัด หายใจไม่ออก คล้ายกำลังจะตาย จึงตั้งสติว่า ‘ถ้าจะตายก็ขอให้ตายในตอนนี้เถิด จะได้หมดเวรหมดกรรม ธรรมก็ยังไม่ได้บรรลุเลย’

น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก เมื่อคุณแม่บุญเรือนคิดดังนี้เท่านั้น อาการทุกขเวทนาทั้งปวงก็พลันหายไปสิ้น บังเกิดความสว่างขึ้นมาทั้งตัว มีความใสสว่างอย่างสุดที่จะประมาณ รู้ชัดว่าตนเองบรรลุอภิญญาถึง ๕ อย่าง มีพระธรรมเข้าประทับ เมื่อนึกอยากรู้อยากเห็นอะไร ก็รู้แจ้งแทงตลอดสว่างไสวไปหมด และยังได้อิทธิปาฏิหาริย์อีกด้วย

จากนั้น เมื่อคุณแม่บุญเรือนบรรลุธรรมแล้ว ก็ได้นั่งกรรมฐานต่อไปอีก จนกระทั่งเวลาใกล้ตี ๕ รุ่งเช้า ได้คิดถึงวัดสัมพันธวงศ์ จึงตั้งจิตอธิษฐานขอให้เข้าไปนั่งในศาลาวัดสัมพันธวงศ์ (ปัจจุบัน ศาลานี้ถูกรื้อไปแล้ว) ซึ่งศาลานี้เป็นที่อยู่ของแม่ชีนักปฏิบัติธรรม คุณแม่เองก็เคยอาศัยบำเพ็ญธรรมที่ศาลานี้

พอสิ้นอธิษฐาน แล้วหลับตาลง ก็คล้ายกับหัวได้หกกลับไปเบื้องหน้า คล้ายกับตีลังกา เมื่อลืมตาขึ้นอีกครั้ง ก็ปรากฏว่าตัวเองได้เข้ามานั่งอยู่ในศาลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ทราบว่าเข้าศาลามาทางไหน และที่บ้านพักตำรวจกับศาลาวัดสัมพันธวงศ์ก็ไกลกันพอสมควร ขณะนั้น ประตูศาลาวัดยังคงปิดใส่กุญแจอยู่ คุณแม่บุญเรือนจึงได้ร้องเรียกให้พระภิกษุสามเณรซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น ช่วยไขกุญแจเปิดประตูให้ที

เมื่อเรื่องที่คุณแม่บุญเรือนหายตัวมาปรากฏอยู่ในศาลาวัด แพร่หลายออกไป ก็มีพระเณรเถรชี อุบาสกคุณแม่ต่างก็มารุมล้อม โจษจันกันเซ็งแซ่ด้วยความตื่นเต้นอัศจรรย์ใจอย่างเหลือที่จะกล่าวได้ไปตามๆ กัน จนความนี้ได้ทราบถึง ท่านเจ้าคุณพระมหารัชชมังคลาจารย์ ๒ ท่านจึงให้เชิญคุณแม่บุญเรือนไปสอบถาม และขอให้คุณแม่บุญเรือนแสดงปาฏิหาริย์หายตัวเข้ามาอยู่ในศาลาวัดให้เป็นที่แจ้งประจักษ์อีกครั้ง ซึ่งคุณแม่บุญเรือนก็ตอบรับ ขอทดลองดูอีกครั้งในเวลาใกล้รุ่งของอีกวัน

คืนนั้นตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ (ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๗๐) แม่ชีฟักเพื่อนปฏิบัติธรรม พักอยู่เป็นประจำที่ศาลานี้ ให้แม่ชีผู้อยู่ศาลาอีก ๓ คนดูแลปิดประตูหน้าต่างลงกลอนให้เรียบร้อยอย่างแน่นหนา และดูให้รู้เห็นเป็นพยานด้วย คืนนั้นปรากฏว่าที่วัดสัมพันธวงศ์ก็เกิดการโกลาหลอลหม่านคึกคักตื่นเต้นกัน น่าดู มีการจัดยามเฝ้าที่ประตูวัดทุกๆ ด้าน ถึงประตูละสองคน และมีการเดินสำรวจรอบศาลาวัดกันให้ขวักไขว่ทั้งคืน ชนิดมดแมงสักตัวเดินผ่านมา ก็ยากจะรอดพ้นสายตาไปได้

ส่วนที่บ้านพักตำรวจปทุมวัน คุณแม่บุญเรือนได้เข้าไปเจริญพระกรรมฐานตั้งแต่หัวค่ำ จนใกล้รุ่ง จึงอธิษฐานให้หายวับจากบ้านพัก เข้าไปปรากฏตัวในศาลาวัดสัมพันธวงศ์ได้เช่นเดียวกับคราวก่อน แต่คราวนี้ไม่มีลีลาอาการหกคว่ำคะมำหงายเหมือนคราวแรก นั่นคือพออธิษฐานเสร็จแล้วหลับตาลง พอลืมตาปั๊บ ตัวของคุณแม่บุญเรือนก็มานั่งเรียบร้อยอยู่ในศาลาทันที

เมื่อคุณแม่บุญเรือนปาฏิหาริย์มานั่งในศาลาเสร็จ สิ่งแรกที่หูได้ผัสสะกับเสียงที่มากระทบก็คือ เสียงคุณแม่คุยกันว่า ‘จะแจ้ง (สว่าง) แล้ว น่ากลัวไม่มาแล้วมั๊ง’

ส่วนอีกรายก็ว่า ‘ไม่มาก็ดี…ถ้ามา…ฉันจะต้องไปเป็นลูกศิษย์ขอเรียนวิชากับเขาอีก’

เมื่อได้ฟังคำกล่าวเช่นนั้น คุณแม่บุญเรือนจึงร้องออกไปในทันใดว่า

‘เอ้า…! ใครอยากจะเป็นลูกศิษย์ฉัน…เชิญทางนี้…ฉันมาแล้ว !’

พวกที่คอยอยู่ก็แปลกใจ และแน่ใจว่าหายตัวผ่านเข้ามาได้จริงๆ และมองเห็นผลสำเร็จทางสมาธิที่มีแก่ผู้ปฏิบัติด้วยวิริยะอุตสาหะ

ต่อมาคุณแม่บุญเรือน ท่านได้อธิษฐานหายตัวจากศาลาไปเขาวงพระจันทร์ ท่านได้พบพระผู้วิเศษที่นั่น และได้รับพระธาตุ ๑ องค์จากพระองค์นั้น กลับมาพระธาตุยังกำอยู่ในมือ เป็นพยานแก่ตัวท่านเองว่ามิได้ฝันไป”

๑ ในแหล่งข้อมูลอื่นๆ ไม่ได้กล่าวถึงมารดาของคุณแม่บุญเรือนในประวัติช่วงนี้เลย ส่วนใหญ่จะบอกว่า คุณแม่บุญเรือนเกิดธรรมสังเวชขึ้นเมื่อแลเห็นสามีนอนกรน และลูกมีอาการละเมอบ่นพึมพำ และกัดฟันกรอดๆ

๒ เรื่องที่นายสุวรรณ ทองนาค หรือ พระอาจารย์สุวรรณ เล่าถึงตอนที่คุณแม่บุญเรือนบรรลุธรรมและหายตัวเข้าไปในศาลาวัดสัมพันธวงศ์ และผู้คนได้เล่าลืออื้ออึงไปจนความทราบถึงพระมหารัชชมังคลาจารย์ ๆ จึงได้ขอให้คุณแม่บุญเรือนแสดงการหายตัวเข้าไปในศาลาวัดสัมพันธวงศ์อีกครั้งหนึ่งนั้น แตกต่างไปจากความในบันทึกของพระมหารัชชมังคลาจารย์ ที่เล่าถึงประวัติคุณแม่บุญเรือนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า

“ต่อมาอาตมาได้ทราบว่า อุบาสิกาฟัก (พยัคฆาภรณ์) ผู้ชอบพอกับอุบาสิกาบุญเรือน ทราบเรื่อง จึงขอให้อุบาสิกาบุญเรือนเข้าศาลาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ อีก ว่าจะให้ใส่กลอนประตูหน้าต่าง และให้แม่เล็ก แม่คำ แม่เทียบ ช่วยดูเป็นพยาน แต่อุบาสิกาบุญเรือนบอกว่า แล้วแต่ธรรมจะบันดาล

ครั้นเวลาดึก อุบาสิกาบุญเรือนอยู่ที่สถานีตำรวจ ก็อธิษฐานเข้าไปในศาลา เช่นเดียวกับคราวก่อน พวกที่คอยดูก็แปลกใจ (และอุบาสิกาเทียบเกิดสงสัยตัวองว่าจะไขกุญแจ หรือลืมถอดกลอนทิ้งไว้บ้างไม่แน่นอน)”

หลังจากนั้นท่านก็มิได้แสดงฤทธิ์อะไรที่เป็นไปในลักษณะการแสดงให้คนชมอีกเลย เว้นแต่อยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น แม้จะมีพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งได้เชิญท่านไปสนทนาธรรมแล้วขอให้ท่านแสดงฤทธิ์ให้ดู คุณแม่บุญเรือนก็ว่า แสดงให้ทอดพระเนตรไม่ได้เพราะจะเป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรม จึงไม่ได้แสดงถวายให้เจ้านายพระองค์นั้นได้ทอดพระเนตร

พระมหารัชชมังคลาจารย์ เล่าถึงประวัติคุณแม่บุญเรือนต่อไปดังนี้

“นอกจากนี้ คุณแม่บุญเรือนยังมีเรื่องเห็นภาพในที่ห่างไกล และเรื่องระลึกชาติได้ อาตมาเห็นว่า เหตุผลพยานที่จะพิสูจน์ยังไม่พอ

ฉะนั้น อาตมาจึงบอกกับคุณแม่บุญเรือนว่า อย่าไปเล่าให้ใครฟัง เขาอาจจะหาความเอาได้หลายอย่าง เมื่อเราทำได้จริง แต่เขาไม่เชื่อ เขาหาความเรา ก็จะเป็นบาปแก่ผู้หาความนั้น

อนึ่ง อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นวิชชาพิเศษฝ่ายโลกียธรรม สำเร็จได้ด้วยอำนาจสมาธิ ถ้าทำสมาธิยังไม่ชำนาญ ญาณความรู้ยังไม่สมบูรณ์ บางคราวอาจทำไม่ได้จึงควรระวัง”

ช่วยทำคลอดโดยพลังจิตอธิษฐานน้ำให้ดื่ม..

พ.ศ. ๒๔๗๓ แม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม ได้ใช้ความรู้ในการเป็นหมอตำแย และพลังจิตที่ได้รับมาจากการปฏิบัติธรรมมาช่วยเหลือ ในการคลอดบุตรยากของเพื่อนสามี คือสิบโทคำ สิทธิวงศ์ ซึ่งได้เล่าเรื่องดังกล่าวถวายแด่ท่านเจ้าคุณพระรัชชมงคลมุนี เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๘๙ ความบางตอนมีอยู่ว่า

“ส่วนแม่บุญเรือน โตงบุญเติมภรรยานายจ้อย ก็เป็นผู้ถือมั่นในทางธรรมดียิ่งอีกด้วย ช่วยชีวิตสัตว์ มนุษย์ เท่าที่เห็นก็คือได้ช่วยภรรยาและบุตรของกระผม โดยภรรยาท้องครบกำหนดแล้ว เจ็บและปวดอยู่ ๓ คืน ๓ วัน เด็กมาขวางตัวอยู่ทำอย่างไร ๆ ก็ไม่คลอด จนเกือบจะหมดลมหายใจ หมอตำแยก็หลายคนช่วยไม่ได้ แม่บุญเรือนพอทราบดังนั้นก็รีบไป โดยมิได้มาขอร้องแต่อย่างใดเลย พอไปพบเข้าก็ให้เอาน้ำมาขันหนึ่ง อธิษฐานน้ำให้กินและเอามือบีบที่ท้อง พอสักครู่หนึ่งเด็กคลอดออกมาได้ทั้ง ๆ ที่มิมีการเบ่ง เพราะคนอ่อนเพลียเต็มที่แล้ว คล้าย ๆ กับเด็กไหลเลื่อนออกมาเอง

เป็นอันว่าภรรยาและบุตรของกระผมก็ปลอดภัย เป็น บุตรหญิงคนแรก เวลานี้อายุ ๑๖ ปีแล้ว กระผมภรรยาและบุตร จึงขอเสนอคุณงามความดีของแม่บุญเรือนด้วย”

พ.ศ. ๒๔๗๕

คุณแม่บุญเรือนฟังเทศน์หลวงปู่บุดดาที่วัดสัมพันธวงศ์

เหตุที่หลวงปู่บุดดามาพักที่วัดสัมพันธวงศ์

ในปลายปี ๒๔๗๔ ต่อต้นปี ๒๔๗๕ ขณะที่หลวงปู่บุดดา ถาวโร แห่งวัดกลางชูศรีเจริญสุข จังหวัดสิงห์บุรี ร่วมเดินทางมาด้วยกันกับหลวงปู่สงฆ์ พรหมสโร พอถึงจังหวัดชลบุรี ท่านทั้งสองก็ถูกอธิกรณ์ และถูกพาให้มาหาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทร์ฯ สมเด็จท่านจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน

ผลปรากฏไม่พบความผิด จึงเป็นที่เล่าลือกันในตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า มีพระสุปฏิปันโนจากป่าเข้ากรุง

จากผลของการสอบสวนในครั้งนั้น ทำให้หลวงปู่ได้พบปะและสบอัธยาศัยกับพระผู้ใหญ่ฝ่ายธรรมยุตหลายองค์ ต่อมาท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) มารดาพระสุจริตสุดา และพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี ในพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (รัชกาลที่ ๖) ได้นิมนต์ไปจำพรรษา ณ วัดสัมพันธวงศ์ หลวงปู่จึงไปพำนักที่วัดสัมพันธวงศ์ในเดือนเมษายนปีนั้น แต่ท่านได้อยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์เพียงสั้น ๆ ประมาณ ๓ เดือนเท่านั้นเอง เนื่องจากท่านอาจารย์เหล็งฯ เป็นภิกษุชาวเพชรบุรีที่อยู่ ณ วัดสัมพันธวงศ์ เลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่และขออาราธนาหลวงปู่ให้ไปโปรดญาติโยมของท่านทางเมืองเพชรก่อน ต่อใกล้พรรษา จึงค่อยกลับมาวัดสัมพันธวงศ์ หลวงปู่จึงไปจำพรรษา ณ วัดเนรัญชรา วัดธรรมยุติของจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ก่อน ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และที่วัดสัมพันธวงศ์นี้เอง ท่านเจ้าคุณพระสิทธิสารโสภณ (สงวน โฆสโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม สมัยนั้นท่านเคยอยู่วัดสัมพันธวงศ์ก่อนที่จะมาอยู่วัดอาวุธฯ และได้พบกับหลวงปู่ ณ ที่นี้เอง หลวงปู่บุดดาแนะนำท่านเจ้าคุณให้รักษาศีลเท่าชีวิต ท่านก็นำมาปฏิบัติจนกระทั่งปรากฏแสงสว่างเกิดขึ้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านจึงเลื่อมใสศรัทธาและฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่บุดดาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านเจ้าคุณได้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม ท่านก็นิมนต์หลวงปู่มาจำพรรษาที่วัดอาวุธฯ หลวงปู่ก็มาพักเป็นครั้งคราวและในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงได้มาจำพรรษาที่วัดอาวุธฯ ๒ ปี ท่านมาครั้งนี้ท่านเจ้าคุณพระสิทธิสารโสภณได้มรณภาพแล้ว โบสถ์ วิหารที่ท่านสร้างไว้ก็ยังไม่เสร็จ หลวงปู่ท่านมาอยู่ ก็ช่วยสร้างศาลาและที่เก็บน้ำไว้ให้ และทอดกฐินร่วมสร้างโบสถ์ที่ยังค้างอยู่

          ขณะที่ท่านเจ้าคุณยังมีชีวิตอยู่ได้เคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่าตอนหลวงปู่บุดดาอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ เวลาหลวงปู่แสดงธรรมมีคนมาฟังธรรมกันแน่นมาก รวมถึงคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ก็ได้มีโอกาสฟังธรรมและมอบตัวเป็นศิษย์ ได้นำคำสอนของหลวงปู่มาปฏิบัติ และบำเพ็ญความเพียรด้วยตนเองจนได้บรรลุธรรม ท่านเจ้าคุณเคารพในปฏิปทาของอุบาสิกาบุญเรือนมาก ดังนั้นเมื่อท่านเจ้าคุณมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอาวุธฯ และเมื่ออุบาสิกาบุญเรือนมา สิ้นชีวิตลงแล้วท่านเจ้าคุณได้อนุญาตให้สร้างศาลาคุณแม่บุญเรือนไว้ที่วัดอาวุธฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์

มีผู้เล่าเรื่องในสมัยก่อนที่หลวงปู่บุดดาอยู่วัดอาวุธฯ เอาไว้ว่า ได้ยินมาจากคุณอาที่รู้จักกัน ซึ่งเป็นคนอุปัฏฐากหลวงปู่บุดดา มีอยู่วันหนึ่ง หลวงปู่บอกว่า “คุณแม่บุญเรือน เป็นศิษย์เรา ได้อภิญญา ๕ เป็นพระอนาคามี”

พ.ศ. ๒๔๗๖

ในปีนี้อุบาสิกาฟัก พยัคฆาภรณ์ ซึ่งเป็นแม่ชีเพื่อนของคุณแม่บุญเรือนซึ่งรักใคร่และสนิทสนมกันมาก ผู้ซึ่งบวชชีอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ และเป็นผู้ซึ่งได้ขอร้องให้คุณแม่บุญเรือนแสดงอิทธิวิธี ด้วยการล่องหนเข้าไปในศาลาวัดสัมพันธวงศ์อีกครั้งหนึ่งตามเรื่องที่ได้กล่าวข้างต้นนั้น ได้ถึงแก่กรรมลงด้วยโรคไตพิการ หลังจากที่กลับมาอยู่บ้านสามภูมิ ถนนสาทร (ซึ่งเป็นบ้านของ “เจ้าสัวกอเป็งเชียง” หรือ “เจ้าสัวเจียร” ประกอบด้วยบ้านของ ๓ ตระกูลใหญ่มี “กอวัฒนา”, “พยัคฆาภรณ์” และ “ทวีสิน” ) ตามคำอ้อนวอนของบรรดาบุตรและญาติได้เพียงสามเดือน

ในตอนเช้าของวันที่ถึงแก่กรรม ญาติผู้ใหญ่เห็นอาการเพียบหนัก ก็เข้าไปบอกหนทาง (เพื่อให้ไปสู่สุคติ หรือพระนิพพาน) คนไข้ก็บอกว่า “ยัง” ตอนเย็น เข้ามาบอกอีก คนไข้ก็บอกว่า “ยัง” อีก

เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. (๒ ทุ่ม) วันนั้น แม่บุญเรือนพร้อมด้วยสามีและบุตรเลี้ยงได้มาเยี่ยม เห็นคนไข้กำลังลืมตา และมีอาการคล้ายจะประสงค์หรือระลึกอะไรอยู่ จึงได้พูดกับคนไข้ว่า “มาแล้ว” ทันใด แม่บุญเรือนก็ขอให้ญาติจัดดอกไม้ธูปเทียนลงมาใส่ในมือคนไข้ และจับมือพนมขึ้นไว้บนหน้าอก ทันทีคนไข้ก็หลับตาและสิ้นใจในเวลา ๒ ทุ่มเศษๆ นั้นเอง

ญาติบางคนได้ถามแม่บุญเรือนว่า เหตุใดจึงทราบและมาทันก่อนเวลาสิ้นใจ แม่บุญเรือนได้เล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่อุบาสิกาฟักถึงแก่กรรมว่า เวลาใกล้ค่ำวันนั้น ได้รับประทานอาหารเย็นอยู่กับสามีและบุตรสาว ทั้งสามีและบุตรสาวเห็นมีมือมาจับไฟฟ้าแก่วงไปมา ก็ได้บอกให้คุณแม่บุญเรือนทราบ ครั้นอิ่มข้าวแล้ว แม่บุญเรือนมานั่งใกล้หน้าต่างห้องเพื่อรับประทานหมาก ก็ได้เห็นมือลอดช่องหน้าต่างมากวักเรียก ก็ทราบว่าเป็นมือของอุบาสิกาฟัก จึงได้พร้อมกันมาเยี่ยม แล้วพูดกันว่า “เห็นจะเป็นนิมิตที่จะได้เห็นกันเป็นครั้งสุดท้าย”

ประชาสัมพันธ์
ประวัติพระเกจิดัง ประวัติฆราวาสขมังเวทย์ สาระพระเครื่อง